มูลนิธิท่านพระอาจารย์วัน อุตตโม เพื่อพัฒนาการเกษตร การศึกษา อนามัย และสังคม

Banner
ประวัติพระอาจารย์วัน อุตตโม
(พระอุดมสังวรวิสุทธิเถร)



            เดิมบรรพบุรุษของพระอาจารย์วัน อุตตโม อยู่ที่บ้านหนองหลัก ต.เหล่าบก อ.ม่วงสามสิบ จ.อุบลราชธานี ต่อมาได้ย้ายถิ่นฐานมาตั้งรกรากที่บ้านตาลโกน ต.ตาลโกน อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร ท่านพระอาจารย์วัน เกิดเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2465 บิดาชื่อ แหลม สีลารักษ์ มารดาชื่อ จันทร์ (มาริชิน) สีลารักษ์ มีพี่น้องร่วมบิดามารดา จำนวน 2 คน คือ พระอาจารย์วัน อุตตโม และ นายผัน สีลารักษ์ และเมื่อมารดาของท่านได้เสียชีวิตตอนที่ท่านเกิดมาได้ไม่นานนัก บิดาก็ได้แต่งงานใหม่กับนางพิมพ์สารทอง มีบุตรด้วยกัน จำนวน 3 คน ตอนเป็นเด็กบิดาเคยพูดว่าเมื่อเรียนจบชั้นมัธยมแล้วอยากให้เรียนต่อด้านกฎหมาย แต่วาสนาของท่านไม่ได้เป็นเช่นนั้น ตอนท่านอายุได้ 13 ปี บิดาป่วยหนัก และก่อนเสียชีวิตได้สั่งเสียว่าอยากให้ท่านบวชแทนพระคุณบ้าง ท่านเองก็จำคำของบิดา และได้บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ด้วยความที่ท่านเป็นลูกกำพร้าทำให้ท่านเป็นคนที่มีความคิดตั้งแต่เด็ก ๆ


        ก่อนบรรพชาท่านได้ไปขอเงินกับปู่ ท่านได้ให้เงินจำนวน 1 บาท และนำท่านไปฝากไว้กับยายซึ่งเป็นแม่ชีท่านได้ไปบวชเป็นสามเณรที่วัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร เรียนจบนักธรรมชั้นตรี ใน พ.ศ. 2485 ท่านพระครูสิงห์ได้นำท่านไปอุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดสร่างโศก บ้านโนนยาง จ.ยโสธร เมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ตรงกับขึ้น 13 ค่ำ เดือน 3 โดยมีพระครูวิจิตรวิโสธนาจารย์เป็นพระอุปัชฌาย์ มีพระมหาคล้าย เป็นพระกรรมวาจาจารย์ แต่โดยความคิดของท่านเองท่านอยากบวชพระตอนอายุ 25-26 ปี เพราะไม่อยากนั่งแถวหน้าขณะที่อายุยังน้อยและรับภาระมาก และเมื่ออุปสมบทแล้วได้ศึกษาเล่าเรียนจนจบนักธรรมชั้นเอก และอยากเรียนทางด้านบาลีบ้าง แต่ไม่มีครูสอน จึงคิดออกปฏิบัติธรรม ได้ไปถวายตัวเป็นศิษย์พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต แห่งวัดหนองผือ ต.นาใน อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ท่านเป็นนักปฏิบัติธรรมมาโดยตลอด แต่ไม่ค่อยสบายเมื่ออยู่ที่พื้นราบ จึงมีความคิดว่าน่าจะไปหาที่ปฏิบัติธรรมบนภูเขา จึงได้เดินทางมายังภูผาเหล็กและอาศัยอยู่ในถ้ำพ่อคำพาได้ก่อตั้งวัดถ้ำพวง (วัดถ้ำอภัยดำรงธรรม) บนภูผาเหล็กในเวลาต่อมา


ผลงานโดยสรุปของ  พระอุดมสังวรวิสุทธิเถร (วัน อุตฺตโม)

พระอาจารย์วัน อุตฺตโม  เป็นนักปฏิบัติมาตั้งแต่เริ่มแรกที่เข้าสู่พระธรรมวินัย จึงมิได้มุ่งในการทำงาน แต่ก็ได้ช่วยเหลือเพื่อนสหธรรมิกเมื่อมีการงานเกิดขึ้นในวัดที่ไปอยู่ การก่อสร้างถาวรวัตถุจึงไม่ปรากฎนักในระยะต้นๆ มามีผลงานขึ้นบ้างสมัยที่ท่านมาอยู่วัดถ้ำอภัยดำรงธรรมเพราะการก่อสร้างใดๆ บนภูเขาหรือเชิงเขาทำยากกว่าที่พื้นราบเป็นอันมาก ดังนั้นวัดถ้ำอภัยดำรงธรรม จึงไม่มีถาวรวัตถุอะไรมากมายนัก มีเพียงศาลาการเปรียญหลังเดียวเท่านั้นที่ดูใหญ่โตเพราะศาลาการเปรียญเป็นสิ่งจำเป็นเนื่องจากมีประชาชนมารับการอบรมฟังเทศน์ในวันพระเทศกาลเข้าพรรษาวันละ 300-500 คน ส่วนกุฏิที่ค่อนข้างใหญ่ก็มีเพียงหลังเดียวที่คุณธเนตร  เอียสกุล สร้างถวาย นอกนั้นเป็นเพียงกุฏิไม้อยู่ได้เพียงองค์เดียว แบบกุฏิกรรมฐานทั่ว ๆ ไป ที่เห็นว่าท่านริเริ่มสร้างที่สำคัญก็คือ การสร้างทางขึ้นถ้ำพวง เพราะท่านเห็นว่าประชาชนในถิ่นนั้นไม่มีอะไรที่เป็นถาวรวัตถุสำหรับเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของประชาชน เมื่อสร้างทางขึ้นไปแล้วจึงได้ริเริ่มสร้างพระพุทธรูปปางนาคปรกที่ถ้ำพวง โดยขนานพระนามพระพุทธรูปว่า พระมงคลมุจจลินท์ โดยถือเอานิมิต พระพุทธรูปปางที่พระพุทธเจ้าเสวยวิมุติสุขอยู่ที่ต้นไม้มุจจลินท์ มีพญานาคแผ่พังพานเพื่อกันฝน หลังจากสร้างพระพุทธรูปเสร็จแล้วท่านจึงจัดให้มีงานเทศกาลต้นเดือนเมษายน ทุกๆ ปี ซึ่งเป็นการสร้างคนทางใจโดยอาศัยวัตถุเป็นเครื่องนำ ความดำริขั้นต่อไปที่ท่านตั้งใจไว้ คือ สร้างเจดีย์บนผาดงก่อถัดจากถ้ำพวงขึ้นไป ซึ่งเป็นหลังเขาที่สูงที่สุดในบริเวณนั้น แต่น่าเสียดายท่านมาด่วนจากไปเสียก่อน

 

ผลงานที่สำคัญที่สุด ของท่านพระอุดมสังวรสุทธิเถร

            คือการเผยแผ่ เพราะพระธรรมเทศนาของท่านเป็นที่น่าสนใจของประชาชน จึงได้รับนิมนต์ไปในที่ต่างๆ แทบไม่มีเวลาอยู่วัด ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างเด่นชัดก็คือการทำบุญประจำปีของวัดพระกรรมฐานทั่วๆไปจะไม่มีมหรสพ แต่จะมีการนิมนต์พระอาจารย์ต่างๆ มาแสดงพระธรรมเทศนาเพื่อเป็นการอบรมศีลธรรม นั่งสมาธิภาวนา ผู้นิมนต์พระสงฆ์ไปแสดงธรรมมักจะจัดให้พระอาจารย์วัน ขึ้นแสดงธรรมเป็นองค์สุดท้ายเสมอ เนื่องจากพระธรรมเทศนาของท่านเป็นที่สนใจของประชาชน และสาเหตุที่ประชาชนให้ความเคารพนับถือในท่านก็เพราะได้รับการอบรมได้ฟังธรรมจากท่านเป็นประการสำคัญ ถ้ามองดูผิวเผินคล้ายกับว่าท่านเห็นแก่ลาภสักการะ แต่โดยข้อเท็จจริงแล้วท่านมีความเมตตาอยากจะสงเคราะห์แนะนำให้ประชาชนมีความเข้าใจในหลักปฏิบัติเวลาไปเทศน์ในวัดต่างๆ ลาภสักการะที่ทายกทายิกาบูชาพระธรรมเทศนา ท่านจะมอบให้บำรุงวัดนั้นๆ เสมอ โดยเฉพาะวัดในชนบท จึงเป็นการไปเพื่อให้มิใช่ไปเพื่อรับ ถ้าหากท่านมุ่งลาภสักการะจริงๆ เพียงอยู่ประจำที่วัดก็มีประชาชนไปหามาก จนแทบไม่มีเวลาพักผ่อนอยู่แล้ว ลาภสักการะก็มีมากกว่าการไปกิจนิมนต์นอกวัด สุขภาพร่างกายก็ไม่ได้รับความลำบาก

 

ความดำริและการสร้างที่เป็นการอนุเคราะห์แก่ประชาชน

            ท่านเจ้าคุณพระอุดมสังวรวิสุทธิเถร (วัน อุตฺตโม) ท่านอยู่ที่วัดถ้ำอภัยดำรงธรรม เป็นระยะเวลาที่ยาวนานกว่าสถานที่แห่งอื่นๆ คืออยู่มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 จนถึง พ.ศ. 2523 มีเพียงปี พ.ศ. 2518 เท่านั้นที่ไปจำพรรษาที่อื่น ท่านเห็นความจำเป็นและความลำบากของชาวบ้านจึงได้ริเริ่มโครงการต่างๆ คือ

1.        สร้างโรงเรียนอภัยดำรงธรรมเพื่อให้เด็กบ้านท่าวัดและบ้านถ้ำติ้วมีที่เล่าเรียน เมื่อดำเนินการสร้างไปแล้วทางราชการจึงได้ช่วยเหลือบ้าง และอนุเคราะห์แจกทุนแก่เด็กนักเรียนในโรงเรียนต่างๆ หลายโรงเรียน บางโรงเรียนก็ได้อนุเคราะห์สร้างถังเก็บน้ำฝนสำหรับบริโภคโดยให้ปัจจัยค่าอุปกรณ์  แต่ให้ทางโรงเรียนช่วยจัดทำเพื่อจะได้ช่วยกันรักษา เพราะเป็นสมบัติที่เขาช่วยกันสร้าง

2.        รับเป็นผู้อุปถัมภ์ ศูนย์เลี้ยงเด็กบ้านเหล่าใหญ่เนื่องจากพัฒนากรและกรรมการหมู่บ้านเหล่าใหญ่ขอร้อง การอุปถัมภ์ศูนย์แห่งนี้ได้มีผู้ร่วมบริจาคจากบุคคลหลายฝ่าย และท่านยังได้อุปถัมภ์ศูนย์เลี้ยงเด็กอีก 2 แห่งคือ ศูนย์เลี้ยงเด็กบ้านส่องดาว และศูนย์เลี้ยงเด็กบ้านท่าศิลา

3.        สร้างอ่างเก็บน้ำที่เชิงเขาและทำถังกรองไปให้ชาวบ้านใช้โดยไม่ต้องมีเครื่องสูบ เพราะเป็นการต่อน้ำจากที่สูง โครงการแรกที่ทำคือ โครงการห้วยมะไฟสมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ นอกจากนี้ยังมีอีก 3 โครงการคือ โครงการคำจวง โครงการห้วยหาด และโครงการคำหลวง สำหรับโครงการคำจวงได้เริ่มสร้างไปบ้างแล้วสมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ส่วนโครงการห้วยหาด และคำหลวงเป็นแต่เพียงดำริไว้ เมื่อท่านมรณภาพแล้ว จึงมีผู้ที่เคารพนับถือและทางราชการช่วยกันจัดทำจนแล้วเสร็จทั้ง 3 โครงการ โดยเฉพาะโครงการคำจวง โครงการห้วยหาด สำเร็จลงได้เพราะพระบารมีปกเกล้าฯ สนองความดำริของพระอาจารย์วัน โดยมีผู้มีจิตศรัทธาโดยเสด็จพระราชกุศลที่สำคัญ 2 ท่านคือ คุณเฉลียว อยู่วิทยา และคุณทวี โกวัฒนะ และยังมีคนอื่นๆช่วยกันสมทบ เมื่อทั้ง 4 โครงการสำเร็จลงแล้วอำเภอส่องดาวจะมีน้ำประปาใช้ทุกหมู่บ้าน ทั้งยังขยายไปถึงเขตอำเภอที่ใกล้เคียงอีกหลายหมู่บ้าน เช่น เขตอำเภอวาริชภูมิ อำเภอสว่างแดนดิน กิ่งอำเภอไชยวาน นับว่าเป็นความดำริและการสร้าง ที่มีประโยชน์แก่ประชาชนเป็นอันมาก เมื่อทำสำเร็จแล้วก็มอบให้หมู่บ้านต่างๆ ช่วยกันดูแลรักษาซ่อมแซมในโอกาสต่อไป แต่การสร้างที่สำเร็จได้ดังกล่าวผู้อ่านพึงทราบว่า มิใช่ว่าพระอาจารย์วัน หรือวัดถ้ำอภัยดำรงธรรมมีปัจจัยมากมายหรือร่ำรวยแต่ประการใด ทุกท่านก็คงเข้าใจแล้วว่า พระเจ้าพระสงฆ์มิใช่พ่อค้า การเลี้ยงชีพทุกอย่างต้องอาศัยชาวบ้าน แต่เหตุที่มีปัจจัยไปช่วยเหลือในกิจการนั้นๆ ก็เนื่องจากความเคารพนับถือในพระอาจารย์วัน เมื่อมีผู้ที่เคารพนับถือมาหา ท่านก็เทศน์หรือชี้แจงโครงการต่างๆให้ฟัง ท่านไม่เคยพูดว่า ขอให้คนนั้นช่วยโครงการนั้นๆ เป็นเพียงเทศน์ หรือแสดงโครงการต่างๆให้ฟัง ผู้มีศรัทธาก็บริจาคเพื่อโครงการนั้นๆโดยเฉพาะ และอีกประการหนึ่งเป็นการบริจาคผ่านครูบาอาจารย์ที่ตนเคารพนับถือ จึงไม่มีการรั่วไหล ผู้ที่ไม่มีปัจจัยจะบริจาคก็สละแรงงาน จึงทำให้ได้ผลงานมากกว่าการลงทุนไปหลายเท่า

4.        เป็นประธานสร้างตึกสงฆ์อาพาธในโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร ปัจจัยที่เหลือจากสร้างตึกสงฆ์อาพาธได้นำไปสร้างที่พักฟื้นสำหรับสงฆ์อาพาธ ที่วัดศรีสว่างแดนดิน ในอำเภอเดียวกัน

            4.1  ช่วยเหลือตึกสงฆ์อาพาธในโรงพยาบาลอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี

            4.2  ช่วยเหลือโรงพยาบาลอำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม

 

ปฏิปทาพระอาจารย์วัน

            พระอาจารย์วัน เป็นผู้โชคดีมากในการเข้ามาสู่พระธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  เพราะก่อนจะออกบรรพชาเป็นสามเณรก็มียายออกบวชเป็นชีอยู่ก่อนแล้วในสำนักปฏิบัติ เมื่อท่านออกบรรพชาก็ไปอยู่ในสำนักที่ยายบวชอยู่ และได้รับการอบรมในทางปฏิบัติตั้งแต่เริ่มแรกก่อนที่จะไปรับการศึกษานักธรรมและบาลี ในขณะที่เรียนนักธรรมและบาลีก็อยู่ในสำนักปฏิบัติ แต่เพิ่มการเรียนเข้ามาเท่านั้น เพื่ออนุวัตตามทางการคณะสงฆ์ เพราะฉะนั้นท่านจึงยึดมั่นในหลักปฏิบัติมาโดยตลอด และได้เข้าศึกษาอบรมจากครูบาอาจารย์ที่สำคัญ ๆ   ในสายปฏิบัติ เช่น พระอาจารย์วัง  ฐิติสาโร  พระอาจารย์เสาร์  กนฺตสีโล  พระอาจารย์พรหม  จิรปุญฺโญ พระอาจารย์มั่น  ภูริทตฺโต  และอาจารย์องค์สำคัญอื่นอีกเป็นอันมาก พระอาจารย์วัน จึงได้ยึดแนวทางในการปฏิบัติมาโดยตลอดของชีวิตพรหมจรรย์ พูดถึงอุปนิสัยท่านเป็นผู้ที่พูดน้อยแต่พูดจริงทำจริง อ่อนน้อมต่อผู้ที่มีอายุพรรษามากกว่าเป็นผู้ที่หนักในคารวะ ชอบความเป็นระเบียบ ให้ความอนุเคราะห์แก่สหธรรมิกที่อ่อนกว่า การวางตัวของท่านเสมอต้นเสมอปลาย จึงได้รับคำยกย่องสรรเสริญจากพระเถระผู้ใหญ่ และเป็นที่เคารพนับถือของผู้น้อย ผู้ที่ได้เคยอยู่ร่วมสำนักหรือคบหาสมาคมกับท่านทุกคนคงทราบดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระอาจารย์วันเป็นผู้ที่ฝึกตนได้ดี เรียบร้อยงดงามในทุกอิริยาบถ ทั้งยืน เดิน นั่ง นอน มีผู้วิจารณ์ว่า  ท่านพระอาจารย์วันเป็นผู้ที่พอดี ไม่ช้า ไม่เร็ว พอเหมาะเสมอในทุกโอกาส

            กล่าวถึงทางวาจา ไม่เคยได้ยินท่านใช้คำพูดที่เป็นผรุสวาจา เมื่อลูกศิษย์ทำผิดหรือล่วงเกินในบางกรณีก็ไม่ใช้คำด่า แต่เป็นคำเทศน์ให้สติ และผู้ที่ถูกเทศน์ก็มีความกลัวจนบางคนถึงกับตัวสั่น ลักษณะของท่านพระอาจารย์วัน ลูกศิษย์ฝ่ายบรรพชิตก็ดี ญาติโยมที่อยู่ใกล้ชิดก็ดีจะมีความเคารพนับถือ เกรงกลัวท่านมากกว่าผู้ที่อยู่ห่าง มิใช่กลัวถูกด่า แต่กลัวในลักษณะที่ยำเกรง เพราะเคารพในตัวท่าน

            พระอาจารย์วันเป็นผู้ที่ทำตัวของท่านให้เป็นตัวอย่างที่ดี แก่ศิษย์หรือจะพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือเป็นผู้ที่  ทำให้ดูมากกว่าบอกให้ทำ   จึงเป็นที่เคารพรักของศิษย์ทั่วไป

            กิจวัตรส่วนตัวของท่านที่ท่านถือปฏิบัติเมื่อเวลาประจำอยู่ที่วัดคือ

1.        พอสว่างเข้าสู่ทางเดินจงกรมเมื่อ เวลา 6.00 น.

2.        ลงไปศาลาการเปรียญทำกิจวัตรและออกบิณฑบาต เวลา 7.00 น.

3.        ฉันเสร็จเรียบร้อยขึ้นกุฏิทำความเพียรจนถึง เวลา 12.00 น.

4.        พักผ่อนจนถึงเวลา 14.00 น.

5.        ทำความเพียรจนถึง เวลา 16.00 น.

หลังจากเวลา 16.00 น. เป็นต้นไป เป็นเวลาที่รับแขกและทำกิจอย่างอื่น เช่น กวาดลานวัดและทำการงานด้านอื่น ๆ ภายในวัด

6.        อบรมพระภิกษุสามเณร เวลา 19.00 น.

7.        พักผ่อนร่างกาย เวลา 22.00 น.

8.        ตื่นนอน เวลา 2.00 น. แล้วทำความเพียร

กิจวัตรส่วนตัวดังกล่าว ในสมัยที่ท่านขึ้นไปอยู่ถ้ำอภัยดำรงธรรม ตอนต้นๆ รู้สึกว่าสะดวกสบายดี เพราะประชาชนยังไปมาหาสู่ไม่มากนัก ต่อมาเมื่อมีประชาชนไปหามากจึงทำให้เปลี่ยนแปลงไปบ้างตามเหตุการณ์ แต่เรื่องการนอนท่านเคยฝึกมาแล้วสมัยที่ท่านปฏิบัติท่านพระอาจารย์มั่น ท่านบันทึกไว้ว่า พักผ่อนคืนหนึ่งอย่างมากที่สุดไม่เกิน 4 ชั่วโมง

(จากหนังสือชีวประวัติ ธรรมะ และข้อวัตรปฏิปทา พระอาจารย์วัน อุตฺตโม โดยพระปริยัติสารสุธี  ในนามคณะศิษยานุศิษย์)


     

        เมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2523 ได้เดินทางโดยเครื่องบินจากจังหวัดอุดรธานี ไปกรุงเทพมหานคร และประสบอุบัติเหตุเครื่องบินตกได้มรณภาพพร้อมกับพระอาจารย์ชื่อดังอีกหลายรูป ที่ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี นับเป็นความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ของชาวพุทธ


        เมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2524 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ได้เสด็จพระราชทานเพลิงศพพระอาจารย์วัน อุตตโม ที่วัดถ้ำพวง ก่อนมรณภาพท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ที่ พระอุดมสังวรวิสุทธิเถร รวมสิริอายุได้ 58 ปี พรรษา 38